ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

มาตรฐานทางจริยธรรม


มาตรฐานทางจริยธรรมของสังคมในแต่ละประเทศจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณลักษณะทางจริยธรรมของบุคคลในประเทศนั้นๆ ซึ่งมาตรฐานทางจริยธรรมของแต่ละประเทศจะมาจากกรอบแนวคิดทางด้านจริยธรรมที่ได้รับการยอมรับจากสังคมดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงขอยกตัวอย่างมาตรฐานทางจริยธรรมของแต่ละประเทศ ดังต่อไปนี้

1. ประเทศสหรัฐอเมริกา
ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมเน้นหนักไปที่เรื่องการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ตาม Code of Ethics for U.S. Government Service มีสาระสำคัญ (United States Houses of Representatives, 2009) ดังนี้
1)   จงรักภักดีต่อศีลธรรมและต่อประเทศ
2)   เคารพในกฎหมาย
3)   ให้ค่าจ้างตามผลการปฏิบัติงานและความคิด
4)   จ้างงานที่มีประสิทธิภาพกว่าและประหยัดกว่า
5)   ไม่เลือกปฏิบัติและไม่รับประโยชน์ใด ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่
6)   ไม่ให้คำมั่นสัญญาใด ๆ อันกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่
7)   ไม่ทำธุรกิจกับภาครัฐ หรือกับหน่วยงานของตน
8)   ไม่ใช้ข้อมูลข่าวสารไปแสวงหาประโยชน์ส่วนตน
9)   เปิดเผยการทุจริตที่พบเห็น
10)   ยึดหลักความไว้วางใจจากสาธารณะ

2ประเทศนิวซีแลนด์
ประเทศนิวซีแลนด์ได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมไว้ 3 ประการ                    ตามประมวล New Zealand Public Service Code of Conduct (State Services Commission, 2009) คือ
1)  เจ้าหน้าที่ของรัฐจักต้องปฏิบัติหน้าที่ภาระผูกพันตามกฎหมายที่มีต่อรัฐบาลด้วยความเป็นมืออาชีพและซื่อสัตย์สุจริต
2)  เจ้าหน้าที่ของรัฐจักต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อตรง มีประสิทธิภาพ เคารพสิทธิของประชาชนและเพื่อนร่วมงาน
3)  เจ้าหน้าที่ของรัฐจักต้องไม่นำความเสื่อมเสียมาสู่ราชการ

3. ประเทศสหราชอาณาจักร
ประเทศสหราชอาณาจักรได้กำหนดแนวพฤติกรรมที่พึงปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ภาครัฐไว้ในการจัดทำหลักความประพฤติ 7 ประการ ตามรายงาน Seven Principles of Public Life Lord Nolan’s Report 1995 (The Commissioners for Public Appointments, 2009) ประกอบด้วย
1)   ความเสียสละ/การไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน (Selflessness)
2)   ความซื่อตรง (Integrity)
3)   ความตรงไปตรงมา (Objectivity)
4)   ความพร้อมที่จะให้ผู้อื่นตรวจสอบ (Accountability)
5)   ความโปร่งใสเปิดเผย (Openness)
6)   ความซื่อสัตย์สุจริต (Honesty)
7)   การเป็นแบบอย่างที่ดี (Leadership)

4ประเทศออสเตรเลีย
ประเทศออสเตรเลียได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมตามกฎหมาย Public Sector Ethics Act 1994 (Department of Justice and Attorney-General, 2009) ไว้ 5 ประการ ประกอบด้วย
1)   การเคารพต่อกฎหมายและระบบของรัฐบาล (Respect for the Law and System of Government)
2)   การเคารพต่อบุคคล (Respect for Persons)
3)   การยึดมั่นในหลักการและยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง (Integrity)
4)   อุตสาหะอุทิศตน (Diligence)
5)   ประสิทธิภาพและความประหยัด (Economy and Efficiency)

5ประเทศมาเลเซีย
ประเทศมาเลเซียได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ทุกองค์กรของรัฐและสมาชิกของหน่วยงานที่ให้บริการสาธารณะต่าง ๆ จะต้องมีและยึดถือปฏิบัติ ไว้ 5 ประการ ตามแผน ความซื่อตรงแห่งชาติ National Integrity Plan (Office of the Prime Minister of Malaysia, 2009) ได้แก่
1)   ความซื่อสัตย์ (Honesty)
2)   ความน่าเชื่อถือ (Trustworthiness)
3)   ความยุติธรรม (Fairness)
4)   ความโปร่งใส (Transparency)
5)   ความกตัญญู (Gratitude)

6.  ประเทศญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมไว้ 5 ประการ ตามประมวล National Public Service Officials Ethics Code (National Personnel Authority, 2009) ประกอบด้วย
1)   ไม่ให้บริการโดยไม่ยุติธรรมหรือเลือกปฏิบัติ
2)   ต้องแยกงานราชการกับงานส่วนตัวและไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่
แสวงหาผลประโยชน์
3)   ไม่กระทำการที่ทำให้เกิดข้อครหา หรือความไม่ไว้วางใจในขณะ
ปฏิบัติหน้าที่
4)   ในการปฏิบัติหน้าที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ
และใช้ความพยายามสูงสุด
5)   ระลึกเสมอว่าพฤติกรรมของตนอาจส่งผลต่อบริการสาธารณะ                     แม้นอกเวลาราชการ

7.  ประเทศไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มอบภารกิจให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงาน ที่ต้องกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของประเทศ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมไว้ 9 ประการ (สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, 2552) ได้แก่
1)   ยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม
2)   การมีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์ สุจริต และรับผิดชอบ
3)   การยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
4)   การยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม และถูกกฎหมาย
5)   การให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว มีอัธยาศัย และไม่เลือกปฏิบัติ
6)   การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วนถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
7)   การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน รักษามาตรฐาน มีคุณภาพ โปร่งใส
และตรวจสอบได้
8)   การยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
9)   การยึดมั่นในหลักจรรยาวิชาชีพขององค์กร

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นสรุปได้ว่า มาตรฐานทางจริยธรรม คือ ตัวแบบสำคัญในการวางบรรทัดฐานทางสังคมของแต่ละประเทศ แต่อย่างไรก็ตามมาตรฐานทางจริยธรรมเพียงประการเดียวไม่อาจสกัดกั้นความเห็นแก่ตัวของบุคคลที่ใช้อำนาจในการปกครองประเทศ เพราะโดยหลักการแล้วการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย แต่ละประเทศจึงได้มีการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมให้เป็นบทบัญญัติที่เป็นกฎหมายเรียกว่า ประมวลจริยธรรม (Code of Ethics)ขึ้นมา เพื่อควบคุมการกระทำของบุคคลที่ใช้อำนาจในการปกครองประเทศ

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กรอบแนวคิดทางจริยธรรม

        เมื่อมนุษย์มีการรวมกลุ่มกันเป็นสังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้นำที่เรียกว่าผู้ปกครอง
เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ในสังคมนั้น ๆ ให้เกิดความเป็นธรรม (บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา, 2550,
หน้า 1; สุเทพ สุนทรเภสัช,2540,หน้า 118) กรอบแนวคิดทางจริยธรรมในการปกครองจึงเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากอารยธรรมเก่าแก่ที่สั่งสมกันมาตามความเชื่อจากลัทธิ ศาสนา หรือจากปรัชญา
ของนักปราชญ์ ได้แก่  
จริยธรรมในการปกครองแบบฮินดู ก่อนคริสต์ศักราช 1200-300 (บุญมี แท่นแก้ว,2550,หน้า 20) เรียกว่า มนูธรรมศาสตร์ ได้แก่ ความรอบรู้ การควบคุมตนเอง ความมีระเบียบวินัย (ปรีชา ช้างขวัญยืน, 2529, หน้า 32-33) จริยธรรมในการปกครองแบบพุทธ ก่อนคริสต์ศักราช 623 เรียกว่า ทศพิธราชธรรม (ธรรมของผู้ปกครอง) 10 ประการ ได้แก่ การเสียสละสิ่งของ ความประพฤติดีงาม การเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความระงับยับยั้งข่มใจได้ ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน การระวังไม่ให้ทำอะไรผิดพลาด จริยธรรมในการปกครองแบบขงจื้อ ก่อนคริสต์ศักราช 551-487 เรียกว่า หน้าที่แห่งพันธสากล (Duties of Universal Obligation) 5 ประการ คือ ครอบครัวเป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งขงจื้อให้ความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครองเป็นประการแรก เนื่องจากขงจื้อมองว่ารัฐเป็นครอบครัวใหญ่ รัฐบาลเป็นผู้ปกครอง รัฐบาลอยู่ได้เพราะผลประโยชน์และการยินยอมของผู้อยู่ใต้ปกครอง (บุญมี แท่นแก้ว,2550,หน้า 29-33) จริยธรรมในการปกครองแบบนครกรีกโบราณ ศึกษาได้จากแนวคิดของกลุ่มนักปราชญ์กรีกโบราณ ดังนี้ จริยธรรมในการปกครองแบบไพธากอรัส (Pythagorus) ก่อนคริสต์ศักราช 580-570 แนวคิดแบบไพธากอรัสมีหลักการว่า การอบรมทางศีลธรรม โดยวิธีควบคุมตนเองและการพัฒนาจิตใจนั้นเพื่อช่วยบำเพ็ญประโยชน์แก่รัฐและรับใช้รัฐ (ฟื้น ดอกบัว,2532,หน้า 41) จริยธรรมในการปกครองแบบโซเครติส (Socreates) ก่อนคริสต์ศักราช 469-399 แนวคิดแบบโซเครติสมีหลักการว่า ความรู้คือคุณธรรม (ฟื้น  ดอกบัว,2532,หน้า104-105) จริยธรรมในการปกครองแบบเพลโต (Plato) ก่อนคริสต์ศักราช 427-347 แนวคิดแบบเพลโตมีหลักการว่ารัฐมีความสำคัญเหนือกว่าอื่นใด พลเมืองทุกคนจะต้องช่วยกันสร้างรัฐ ให้อุดมสมบูรณ์ มีความมั่นคงทั้งภายในภายนอก แม้จะเสียผลประโยชน์ส่วนตัวไปบ้าง เพื่อประโยชน์ของรัฐก็ต้องยินยอม (ฟื้น ดอกบัว, 2532,หน้า 154-159) จริยธรรมในการปกครองแบบอาริสโตเติล (Aristotle) ก่อนคริสต์ศักราช 384-322 แนวคิดแบบอาริสโตเติลมีหลักการว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมไม่สามารถ แยกอยู่โดดเดี่ยวและไม่เกี่ยวข้องกับสังคมได้ จึงควรจะสละผลประโยชน์ส่วนตัวให้แก่ผู้อื่นและแก่ส่วนรวมด้วย (ฟื้น ดอกบัว,2532,หน้า 187-203) จริยธรรมในการปกครองแบบคริสต์ เริ่มต้นตั้งแต่พระเยซูเรียกร้องให้มนุษย์สละความสุขส่วนตนเพียงนิดหน่อยในโลกนี้เพื่อได้ความสุขสมบูรณ์บนสวรรค์ (กีรติ บุญเจือ,2551,หน้า 44)  จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นสรุปได้ว่ากรอบแนวคิดทางจริยธรรมในการปกครองยุคแรก ๆ ได้รับอิทธิพลตามหลักจริยธรรมในการปกครองแบบเพลโตและแบบอาริสโตเติลที่ว่า มนุษย์ควรจะสละผลประโยชน์ส่วนตัวให้แก่ผู้อื่นและแก่ส่วนรวม คือ การให้รู้จักความพอดีหรือความพอเพียงระหว่างตัวเองกับสังคมเป็นการมองให้สังคมเป็นศูนย์กลางมากกว่าการมองให้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง ((((((ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์, 2549, หน้า 107)      
                                                                                                                             

เอกสารอ้างอิง

กีรติ บุญเจือ. (2551). คู่มือจริยศาสตร์ตามหลักวิชาการสากล. กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้. นนทบุรี เชน ปริ้นติ้ง.                                                                                                                                          



ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์. (2549). นักการเมืองไทย : จริยธรรม ผลประโยชน์ทับซ้อน การคอร์รัปชั่น. กรุงเทพฯ : สายธาร.                                                                                                                             
บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา. (2550). การแก้วิกฤติโลกด้วยจริยธรรมนักการเมือง. เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่.                                               
บุญมี แท่นแก้ว. (2550). จริยศาสตร์. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.                                                                 
ปรีชา ช้างขวัญยืน. (2529). ระบบปรัชญาการเมืองในมานวธรรมศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : พนอศิริเพรส.                                                                                                                    
ฟื้น ดอกบัว. (2532). ปรัชญาตะวันตก. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์. 


สุเทพ สุนทรเภสัช. (2540).  ทฤษฎีสังคมวิทยาร่วมสมัย พื้นฐานแนวความคิดทฤษฎีทางสังคมวิทยาและวัฒนธรรม. เชียงใหม่ : โกลบอลวิชั่น.
                                                            

วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

ความหมายของจริยธรรม

                              พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ..2542 ราชบัณฑิตยสถาน, 2542, หน้า 291)ได้ให้ความหมายของคำว่า จริยธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม คำว่า จริยธรรม มาจากคำว่า จะริยะ ซึ่งเป็นภาษาบาลี แปลว่า อันบุคคลควรประพฤติ ความประพฤติกรรม กับคำว่า ธรรม ซึ่งเป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า หน้าที่ การทรงไว้ กฎเกณฑ์ การปฏิบัติ ความดีงาม ความถูกต้อง จริยธรรมจึงเป็นคำสมาส มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า หน้าที่ที่บุคคลควรประพฤติ (โสภา ชูพิกุลชัย ชปีลมันน์ 2541, หน้า 21)
            ดวงเดือน พันธุมนาวิน(2548, หน้า 8)ได้อธิบายว่า จริยธรรม ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Ethics และ Morality ซึ่งแบ่งเป็นสองสายในสายจิตวิทยาจะใช้คำว่า Morality ส่วนในสายปรัชญาจะใช้คำว่า Ethics พระธรรมปิฎก(2551, หน้า 406) อธิบายคำว่า จริยธรรม มีความหมายเดียวกับคำว่า Ethic ซึ่ง ดุจเดือน พันธุมนาวิน (2551, หน้า 4)  ได้อธิบายไว้ว่า จริยธรรม ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Morality ส่วนคำว่า Ethics ตรงกับคำว่า จรรยาบรรณ ในภาษาไทย ส่วน Webster’s Ninth New Collegiate Dictionary (1991) (2551 : 407)  ให้ความหมายคำว่าจริยธรรม ตรงกับคำว่า Moral มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Moralis มีความหมายเหมือนกับคำว่า Ethics ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Ethice เหมือนกัน
            จริยธรรมตามความหมายของนักวิชาการต่างประเทศให้ความหมายของจริยธรรมเน้นหนักไปที่สังคมโดยให้สังคมเป็นตัวกำหนด รวมเรียกว่าพฤติกรรมทางสังคม ดังจะเห็นความหมายจากนักวิชาการต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น Jean Piaget (1932, pp.1) ได้ให้ความหมายไว้ว่าจริยธรรม คือ องค์ประกอบของกฎเกณฑ์ ที่บุคคลยอมรับว่าถูก ว่าดี ว่าควร เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม  Lawrence Kohlberg (1976, pp. 4-5) ให้คำจำกัดความไว้ว่าจริยธรรมเป็นพื้นฐานของความยุติธรรมถือเอาการกระจายสิทธิและหน้าที่อย่างเท่าเทียมกัน โดยมิได้หมายถึงกฎเกณฑ์ที่บังคับทั่วไปแต่เป็นกฎเกณฑ์ที่มีความเป็นสากลที่คนส่วนใหญ่รับไว้ ทุกสถานการณ์ไม่มีการขัดแย้งเป็นอุดมคติ James Rest (1976, pp. 6)ให้ความหมายไว้ว่า จริยธรรมเป็นมโนทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับหลักความยุติธรรม ในการมีปฏิสัมพันธ์กันในสังคม โดยไม่เกี่ยวข้องกับคุณค่าหรือความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละบุคคล Albert  Schweitzer พัชนี นันทศักดิ์ และคณะ, 2549 หน้า 47)ให้คำจำกัดความไว้ว่า จริยธรรม คือ ความเอาใจใส่ต่อพฤติกรรมที่ดี คนเรามีหน้าที่ไม่ใช่แต่เพียงเพื่อสวัสดิภาพของตัวเราเท่านั้นแต่ต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้อื่นด้วย
            ส่วนจริยธรรมตามความหมายของนักวิชาการในประเทศไทยให้ความหมายเน้นไปที่ความประพฤติของบุคคล ซึ่ง โสภา ชูพิกุลชัย ชปีลมันน์ (2541, หน้า 21)ได้รวบรวมความหมายของจริยธรรมจากนักวิชาการหลายท่านดังต่อไปนี้ วศิน  อินทสระ ได้ให้ความหมาย จริยธรรม หมายถึง ความประพฤติ การกระทำ ความคิดที่ถูกต้องเหมาะสม การทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ เว้นในสิ่งที่ควรเว้นกระทำในสิ่งที่ควรกระทำด้วยความฉลาด รอบคอบ รู้เหตุรู้ผล ถูกต้องกาละเทศะและบุคคล ก่อ  สวัสดิ์พาณิชย์ ได้ให้ความหมายว่าจริยธรรม คือ ประมวลความประพฤติและความนึกคิดในสิ่งที่ดีงามเหมาะสม มีนักวิชาการไทยส่วนหนึ่งมีความเห็นแตกต่างจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นโดยมีความคิดเห็นไปในแนวทางของนักวิชาการต่างประเทศ เช่น ความเห็นของดุจเดือน พันธุมนาวิน (2551, หน้า 2)ให้ความหมายครอบคลุมว่า จริยธรรม หมายถึง ลักษณะทางสังคมหลายลักษณะของมนุษย์และมีขอบเขตรวมถึงพฤติกรรมทางสังคมประเภทต่าง ๆ อันเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งสอดคล้องกับนงลักษณ์ วิรัชชัย ศจีมาศ ณ วิเชียร และพิศสมัย อรทัย(ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม(ศูนย์คุณธรรม)2551, หน้า 408)ที่ว่า จริยธรรม เป็นกรอบหรือหลักประพฤติปฏิบัติของกลุ่มคนหรือกลุ่มบุคคล ที่สอดคล้องกับมาตรฐานที่ดีงาม
            จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นสรุปได้ว่า จริยธรรม หมายถึง หลักประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมกับการทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์และสอดคล้องกับมาตรฐานที่ดีงามอันเป็นที่ยอมรับของสังคมของกลุ่มคนหรือกลุ่มบุคคล