ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

ความหมายของจริยธรรม

                              พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ..2542 ราชบัณฑิตยสถาน, 2542, หน้า 291)ได้ให้ความหมายของคำว่า จริยธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม คำว่า จริยธรรม มาจากคำว่า จะริยะ ซึ่งเป็นภาษาบาลี แปลว่า อันบุคคลควรประพฤติ ความประพฤติกรรม กับคำว่า ธรรม ซึ่งเป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า หน้าที่ การทรงไว้ กฎเกณฑ์ การปฏิบัติ ความดีงาม ความถูกต้อง จริยธรรมจึงเป็นคำสมาส มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า หน้าที่ที่บุคคลควรประพฤติ (โสภา ชูพิกุลชัย ชปีลมันน์ 2541, หน้า 21)
            ดวงเดือน พันธุมนาวิน(2548, หน้า 8)ได้อธิบายว่า จริยธรรม ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Ethics และ Morality ซึ่งแบ่งเป็นสองสายในสายจิตวิทยาจะใช้คำว่า Morality ส่วนในสายปรัชญาจะใช้คำว่า Ethics พระธรรมปิฎก(2551, หน้า 406) อธิบายคำว่า จริยธรรม มีความหมายเดียวกับคำว่า Ethic ซึ่ง ดุจเดือน พันธุมนาวิน (2551, หน้า 4)  ได้อธิบายไว้ว่า จริยธรรม ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Morality ส่วนคำว่า Ethics ตรงกับคำว่า จรรยาบรรณ ในภาษาไทย ส่วน Webster’s Ninth New Collegiate Dictionary (1991) (2551 : 407)  ให้ความหมายคำว่าจริยธรรม ตรงกับคำว่า Moral มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Moralis มีความหมายเหมือนกับคำว่า Ethics ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Ethice เหมือนกัน
            จริยธรรมตามความหมายของนักวิชาการต่างประเทศให้ความหมายของจริยธรรมเน้นหนักไปที่สังคมโดยให้สังคมเป็นตัวกำหนด รวมเรียกว่าพฤติกรรมทางสังคม ดังจะเห็นความหมายจากนักวิชาการต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น Jean Piaget (1932, pp.1) ได้ให้ความหมายไว้ว่าจริยธรรม คือ องค์ประกอบของกฎเกณฑ์ ที่บุคคลยอมรับว่าถูก ว่าดี ว่าควร เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม  Lawrence Kohlberg (1976, pp. 4-5) ให้คำจำกัดความไว้ว่าจริยธรรมเป็นพื้นฐานของความยุติธรรมถือเอาการกระจายสิทธิและหน้าที่อย่างเท่าเทียมกัน โดยมิได้หมายถึงกฎเกณฑ์ที่บังคับทั่วไปแต่เป็นกฎเกณฑ์ที่มีความเป็นสากลที่คนส่วนใหญ่รับไว้ ทุกสถานการณ์ไม่มีการขัดแย้งเป็นอุดมคติ James Rest (1976, pp. 6)ให้ความหมายไว้ว่า จริยธรรมเป็นมโนทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับหลักความยุติธรรม ในการมีปฏิสัมพันธ์กันในสังคม โดยไม่เกี่ยวข้องกับคุณค่าหรือความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละบุคคล Albert  Schweitzer พัชนี นันทศักดิ์ และคณะ, 2549 หน้า 47)ให้คำจำกัดความไว้ว่า จริยธรรม คือ ความเอาใจใส่ต่อพฤติกรรมที่ดี คนเรามีหน้าที่ไม่ใช่แต่เพียงเพื่อสวัสดิภาพของตัวเราเท่านั้นแต่ต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้อื่นด้วย
            ส่วนจริยธรรมตามความหมายของนักวิชาการในประเทศไทยให้ความหมายเน้นไปที่ความประพฤติของบุคคล ซึ่ง โสภา ชูพิกุลชัย ชปีลมันน์ (2541, หน้า 21)ได้รวบรวมความหมายของจริยธรรมจากนักวิชาการหลายท่านดังต่อไปนี้ วศิน  อินทสระ ได้ให้ความหมาย จริยธรรม หมายถึง ความประพฤติ การกระทำ ความคิดที่ถูกต้องเหมาะสม การทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ เว้นในสิ่งที่ควรเว้นกระทำในสิ่งที่ควรกระทำด้วยความฉลาด รอบคอบ รู้เหตุรู้ผล ถูกต้องกาละเทศะและบุคคล ก่อ  สวัสดิ์พาณิชย์ ได้ให้ความหมายว่าจริยธรรม คือ ประมวลความประพฤติและความนึกคิดในสิ่งที่ดีงามเหมาะสม มีนักวิชาการไทยส่วนหนึ่งมีความเห็นแตกต่างจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นโดยมีความคิดเห็นไปในแนวทางของนักวิชาการต่างประเทศ เช่น ความเห็นของดุจเดือน พันธุมนาวิน (2551, หน้า 2)ให้ความหมายครอบคลุมว่า จริยธรรม หมายถึง ลักษณะทางสังคมหลายลักษณะของมนุษย์และมีขอบเขตรวมถึงพฤติกรรมทางสังคมประเภทต่าง ๆ อันเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งสอดคล้องกับนงลักษณ์ วิรัชชัย ศจีมาศ ณ วิเชียร และพิศสมัย อรทัย(ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม(ศูนย์คุณธรรม)2551, หน้า 408)ที่ว่า จริยธรรม เป็นกรอบหรือหลักประพฤติปฏิบัติของกลุ่มคนหรือกลุ่มบุคคล ที่สอดคล้องกับมาตรฐานที่ดีงาม
            จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นสรุปได้ว่า จริยธรรม หมายถึง หลักประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมกับการทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์และสอดคล้องกับมาตรฐานที่ดีงามอันเป็นที่ยอมรับของสังคมของกลุ่มคนหรือกลุ่มบุคคล