ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กรอบแนวคิดทางจริยธรรม

        เมื่อมนุษย์มีการรวมกลุ่มกันเป็นสังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้นำที่เรียกว่าผู้ปกครอง
เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ในสังคมนั้น ๆ ให้เกิดความเป็นธรรม (บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา, 2550,
หน้า 1; สุเทพ สุนทรเภสัช,2540,หน้า 118) กรอบแนวคิดทางจริยธรรมในการปกครองจึงเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากอารยธรรมเก่าแก่ที่สั่งสมกันมาตามความเชื่อจากลัทธิ ศาสนา หรือจากปรัชญา
ของนักปราชญ์ ได้แก่  
จริยธรรมในการปกครองแบบฮินดู ก่อนคริสต์ศักราช 1200-300 (บุญมี แท่นแก้ว,2550,หน้า 20) เรียกว่า มนูธรรมศาสตร์ ได้แก่ ความรอบรู้ การควบคุมตนเอง ความมีระเบียบวินัย (ปรีชา ช้างขวัญยืน, 2529, หน้า 32-33) จริยธรรมในการปกครองแบบพุทธ ก่อนคริสต์ศักราช 623 เรียกว่า ทศพิธราชธรรม (ธรรมของผู้ปกครอง) 10 ประการ ได้แก่ การเสียสละสิ่งของ ความประพฤติดีงาม การเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความระงับยับยั้งข่มใจได้ ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน การระวังไม่ให้ทำอะไรผิดพลาด จริยธรรมในการปกครองแบบขงจื้อ ก่อนคริสต์ศักราช 551-487 เรียกว่า หน้าที่แห่งพันธสากล (Duties of Universal Obligation) 5 ประการ คือ ครอบครัวเป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งขงจื้อให้ความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครองเป็นประการแรก เนื่องจากขงจื้อมองว่ารัฐเป็นครอบครัวใหญ่ รัฐบาลเป็นผู้ปกครอง รัฐบาลอยู่ได้เพราะผลประโยชน์และการยินยอมของผู้อยู่ใต้ปกครอง (บุญมี แท่นแก้ว,2550,หน้า 29-33) จริยธรรมในการปกครองแบบนครกรีกโบราณ ศึกษาได้จากแนวคิดของกลุ่มนักปราชญ์กรีกโบราณ ดังนี้ จริยธรรมในการปกครองแบบไพธากอรัส (Pythagorus) ก่อนคริสต์ศักราช 580-570 แนวคิดแบบไพธากอรัสมีหลักการว่า การอบรมทางศีลธรรม โดยวิธีควบคุมตนเองและการพัฒนาจิตใจนั้นเพื่อช่วยบำเพ็ญประโยชน์แก่รัฐและรับใช้รัฐ (ฟื้น ดอกบัว,2532,หน้า 41) จริยธรรมในการปกครองแบบโซเครติส (Socreates) ก่อนคริสต์ศักราช 469-399 แนวคิดแบบโซเครติสมีหลักการว่า ความรู้คือคุณธรรม (ฟื้น  ดอกบัว,2532,หน้า104-105) จริยธรรมในการปกครองแบบเพลโต (Plato) ก่อนคริสต์ศักราช 427-347 แนวคิดแบบเพลโตมีหลักการว่ารัฐมีความสำคัญเหนือกว่าอื่นใด พลเมืองทุกคนจะต้องช่วยกันสร้างรัฐ ให้อุดมสมบูรณ์ มีความมั่นคงทั้งภายในภายนอก แม้จะเสียผลประโยชน์ส่วนตัวไปบ้าง เพื่อประโยชน์ของรัฐก็ต้องยินยอม (ฟื้น ดอกบัว, 2532,หน้า 154-159) จริยธรรมในการปกครองแบบอาริสโตเติล (Aristotle) ก่อนคริสต์ศักราช 384-322 แนวคิดแบบอาริสโตเติลมีหลักการว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมไม่สามารถ แยกอยู่โดดเดี่ยวและไม่เกี่ยวข้องกับสังคมได้ จึงควรจะสละผลประโยชน์ส่วนตัวให้แก่ผู้อื่นและแก่ส่วนรวมด้วย (ฟื้น ดอกบัว,2532,หน้า 187-203) จริยธรรมในการปกครองแบบคริสต์ เริ่มต้นตั้งแต่พระเยซูเรียกร้องให้มนุษย์สละความสุขส่วนตนเพียงนิดหน่อยในโลกนี้เพื่อได้ความสุขสมบูรณ์บนสวรรค์ (กีรติ บุญเจือ,2551,หน้า 44)  จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นสรุปได้ว่ากรอบแนวคิดทางจริยธรรมในการปกครองยุคแรก ๆ ได้รับอิทธิพลตามหลักจริยธรรมในการปกครองแบบเพลโตและแบบอาริสโตเติลที่ว่า มนุษย์ควรจะสละผลประโยชน์ส่วนตัวให้แก่ผู้อื่นและแก่ส่วนรวม คือ การให้รู้จักความพอดีหรือความพอเพียงระหว่างตัวเองกับสังคมเป็นการมองให้สังคมเป็นศูนย์กลางมากกว่าการมองให้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง ((((((ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์, 2549, หน้า 107)      
                                                                                                                             

เอกสารอ้างอิง

กีรติ บุญเจือ. (2551). คู่มือจริยศาสตร์ตามหลักวิชาการสากล. กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้. นนทบุรี เชน ปริ้นติ้ง.                                                                                                                                          



ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์. (2549). นักการเมืองไทย : จริยธรรม ผลประโยชน์ทับซ้อน การคอร์รัปชั่น. กรุงเทพฯ : สายธาร.                                                                                                                             
บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา. (2550). การแก้วิกฤติโลกด้วยจริยธรรมนักการเมือง. เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่.                                               
บุญมี แท่นแก้ว. (2550). จริยศาสตร์. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.                                                                 
ปรีชา ช้างขวัญยืน. (2529). ระบบปรัชญาการเมืองในมานวธรรมศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : พนอศิริเพรส.                                                                                                                    
ฟื้น ดอกบัว. (2532). ปรัชญาตะวันตก. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์. 


สุเทพ สุนทรเภสัช. (2540).  ทฤษฎีสังคมวิทยาร่วมสมัย พื้นฐานแนวความคิดทฤษฎีทางสังคมวิทยาและวัฒนธรรม. เชียงใหม่ : โกลบอลวิชั่น.
                                                            

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น