ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

มาตรฐานทางจริยธรรม


มาตรฐานทางจริยธรรมของสังคมในแต่ละประเทศจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณลักษณะทางจริยธรรมของบุคคลในประเทศนั้นๆ ซึ่งมาตรฐานทางจริยธรรมของแต่ละประเทศจะมาจากกรอบแนวคิดทางด้านจริยธรรมที่ได้รับการยอมรับจากสังคมดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงขอยกตัวอย่างมาตรฐานทางจริยธรรมของแต่ละประเทศ ดังต่อไปนี้

1. ประเทศสหรัฐอเมริกา
ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมเน้นหนักไปที่เรื่องการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ตาม Code of Ethics for U.S. Government Service มีสาระสำคัญ (United States Houses of Representatives, 2009) ดังนี้
1)   จงรักภักดีต่อศีลธรรมและต่อประเทศ
2)   เคารพในกฎหมาย
3)   ให้ค่าจ้างตามผลการปฏิบัติงานและความคิด
4)   จ้างงานที่มีประสิทธิภาพกว่าและประหยัดกว่า
5)   ไม่เลือกปฏิบัติและไม่รับประโยชน์ใด ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่
6)   ไม่ให้คำมั่นสัญญาใด ๆ อันกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่
7)   ไม่ทำธุรกิจกับภาครัฐ หรือกับหน่วยงานของตน
8)   ไม่ใช้ข้อมูลข่าวสารไปแสวงหาประโยชน์ส่วนตน
9)   เปิดเผยการทุจริตที่พบเห็น
10)   ยึดหลักความไว้วางใจจากสาธารณะ

2ประเทศนิวซีแลนด์
ประเทศนิวซีแลนด์ได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมไว้ 3 ประการ                    ตามประมวล New Zealand Public Service Code of Conduct (State Services Commission, 2009) คือ
1)  เจ้าหน้าที่ของรัฐจักต้องปฏิบัติหน้าที่ภาระผูกพันตามกฎหมายที่มีต่อรัฐบาลด้วยความเป็นมืออาชีพและซื่อสัตย์สุจริต
2)  เจ้าหน้าที่ของรัฐจักต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อตรง มีประสิทธิภาพ เคารพสิทธิของประชาชนและเพื่อนร่วมงาน
3)  เจ้าหน้าที่ของรัฐจักต้องไม่นำความเสื่อมเสียมาสู่ราชการ

3. ประเทศสหราชอาณาจักร
ประเทศสหราชอาณาจักรได้กำหนดแนวพฤติกรรมที่พึงปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ภาครัฐไว้ในการจัดทำหลักความประพฤติ 7 ประการ ตามรายงาน Seven Principles of Public Life Lord Nolan’s Report 1995 (The Commissioners for Public Appointments, 2009) ประกอบด้วย
1)   ความเสียสละ/การไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน (Selflessness)
2)   ความซื่อตรง (Integrity)
3)   ความตรงไปตรงมา (Objectivity)
4)   ความพร้อมที่จะให้ผู้อื่นตรวจสอบ (Accountability)
5)   ความโปร่งใสเปิดเผย (Openness)
6)   ความซื่อสัตย์สุจริต (Honesty)
7)   การเป็นแบบอย่างที่ดี (Leadership)

4ประเทศออสเตรเลีย
ประเทศออสเตรเลียได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมตามกฎหมาย Public Sector Ethics Act 1994 (Department of Justice and Attorney-General, 2009) ไว้ 5 ประการ ประกอบด้วย
1)   การเคารพต่อกฎหมายและระบบของรัฐบาล (Respect for the Law and System of Government)
2)   การเคารพต่อบุคคล (Respect for Persons)
3)   การยึดมั่นในหลักการและยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง (Integrity)
4)   อุตสาหะอุทิศตน (Diligence)
5)   ประสิทธิภาพและความประหยัด (Economy and Efficiency)

5ประเทศมาเลเซีย
ประเทศมาเลเซียได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ทุกองค์กรของรัฐและสมาชิกของหน่วยงานที่ให้บริการสาธารณะต่าง ๆ จะต้องมีและยึดถือปฏิบัติ ไว้ 5 ประการ ตามแผน ความซื่อตรงแห่งชาติ National Integrity Plan (Office of the Prime Minister of Malaysia, 2009) ได้แก่
1)   ความซื่อสัตย์ (Honesty)
2)   ความน่าเชื่อถือ (Trustworthiness)
3)   ความยุติธรรม (Fairness)
4)   ความโปร่งใส (Transparency)
5)   ความกตัญญู (Gratitude)

6.  ประเทศญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมไว้ 5 ประการ ตามประมวล National Public Service Officials Ethics Code (National Personnel Authority, 2009) ประกอบด้วย
1)   ไม่ให้บริการโดยไม่ยุติธรรมหรือเลือกปฏิบัติ
2)   ต้องแยกงานราชการกับงานส่วนตัวและไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่
แสวงหาผลประโยชน์
3)   ไม่กระทำการที่ทำให้เกิดข้อครหา หรือความไม่ไว้วางใจในขณะ
ปฏิบัติหน้าที่
4)   ในการปฏิบัติหน้าที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ
และใช้ความพยายามสูงสุด
5)   ระลึกเสมอว่าพฤติกรรมของตนอาจส่งผลต่อบริการสาธารณะ                     แม้นอกเวลาราชการ

7.  ประเทศไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มอบภารกิจให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงาน ที่ต้องกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของประเทศ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมไว้ 9 ประการ (สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, 2552) ได้แก่
1)   ยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม
2)   การมีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์ สุจริต และรับผิดชอบ
3)   การยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
4)   การยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม และถูกกฎหมาย
5)   การให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว มีอัธยาศัย และไม่เลือกปฏิบัติ
6)   การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วนถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
7)   การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน รักษามาตรฐาน มีคุณภาพ โปร่งใส
และตรวจสอบได้
8)   การยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
9)   การยึดมั่นในหลักจรรยาวิชาชีพขององค์กร

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นสรุปได้ว่า มาตรฐานทางจริยธรรม คือ ตัวแบบสำคัญในการวางบรรทัดฐานทางสังคมของแต่ละประเทศ แต่อย่างไรก็ตามมาตรฐานทางจริยธรรมเพียงประการเดียวไม่อาจสกัดกั้นความเห็นแก่ตัวของบุคคลที่ใช้อำนาจในการปกครองประเทศ เพราะโดยหลักการแล้วการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย แต่ละประเทศจึงได้มีการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมให้เป็นบทบัญญัติที่เป็นกฎหมายเรียกว่า ประมวลจริยธรรม (Code of Ethics)ขึ้นมา เพื่อควบคุมการกระทำของบุคคลที่ใช้อำนาจในการปกครองประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น